เสียรวม – เสียแยก
การพิจารณา ให้ของที่นำเข้ามาพร้อมกันหลายรายการต้องจำแนกเข้าประเภทพิกัดอัตราศุลกากรเดียวกัน หรือต้องแยกเข้าต่างพิกัดอัตราศุลกากร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
ข้อ 1 ภาค 1 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนด ดังนี้
หลักเกณฑ์ข้อ 3
ของที่อาจจำแนกประเภทได้ตั้งแต่สองประเภทขึ้นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 2(ข) หรือตามเหตุผลอื่นใดก็ตาม ให้จำแนกประเภทโดยถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้เฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้างๆให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามเมื่อมีประเภทตั้งแต่สองประเภทขึ้นไปต่างก็ระบุถึงวัตถุหรือสาร ส่วนหนึ่ง ส่วนใดที่มีอยู่ในของผสมหรือในของรวม หรือระบุถึงของบางชนิดในของที่จัดทำขึ้นเป็นชุด เพื่อการขายปลีก ให้ถือว่าประเภทเหล่านั้นระบุ โดยเฉพาะถึงของดังกล่าวเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าประเภทใดในประเภทต่างๆเหล่านั้นระบุถึงลักษณะของได้สมบูรณ์หรือตรงกว่าก็ตาม
(ข) ของผสม ของรวม ที่ประกอบด้วยวัตถุต่างชนิดกันหรือทำขึ้นจากองค์ประกอบต่างกัน และของที่จัดทำขึ้นเป็นชุดเพื่อการขายปลีก ซึ่งไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3(ก) ได้ ให้จำแนกประเภทโดยเสมือนว่าของนั้นประกอบด้วยวัตถุหรือองค์ประกอบ ที่แสดงลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของของนั้นเท่าที่จะใช้หลักนี้ได้
(ค) เมื่อของใดไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3(ก) หรือ 3(ข) ได้ ให้จำแนกเข้าประเภทที่ลำดับไว้หลังสุด ในบรรดาประเภทที่อาจจำแนกเข้าได้โดยเท่าเทียมกัน
หลักเกณฑ์ข้อ 5
(ก) กระเป๋ากล้องถ่ายรูป หีบเครื่องดนตรี กระเป๋าปืน กล่องอุปกรณ์เขียนแบบ กล่องสร้อยคอ และภาชนะบรรจุที่คล้ายกัน ที่ทำรูปทรงหรือขนาดเป็นพิเศษเพื่อบรรจุของหรือชุดของของ โดยเฉพาะ ใช้ได้คงทนและนำเข้ามาด้วยกันกับของที่มีเจตนาใช้ร่วมกันให้จำแนก ตามประเภทของของที่บรรจุ ถ้าตามปกติเป็นชนิดที่ต้องขายพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์นี้ ไม่ให้ใช้กับภาชนะบรรจุที่เห็นได้ว่ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญในตัวเอง
(ข) ภายใต้บังคับของหลักเกณฑ์ข้อ 5(ก) ข้างต้น วัตถุและภาชนะสำหรับใช้ในการบรรจุที่บรรจุของเข้ามา ให้จำแนกเข้าประเภทเดียวกันกับของนั้นถ้าวัตถุและภาชนะนั้นเป็นชนิดที่ ตามปกติใช้สำหรับบรรจุของดังกล่าว อย่างไรก็ตามไม่ให้ใช้ข้อกำหนดนี้เมื่อเห็นได้ชัดว่า วัตถุและภาชนะสำหรับใช้ในการบรรจุนั้นเหมาะสำหรับใช้ซ้ำได้อีก
ข้อ 2. สำหรับเครื่องจักรตามหมวด 16 ของภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามหมายเหตุ 3 กำหนด
“เว้นแต่จะมีข้อความกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เครื่องจักรควบซึ่งมีเครื่องจักรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปประกอบติดอยู่ด้วยกันเป็นเครื่องเดียว และเครื่องจักรอื่นๆ ที่ออกแบบเพื่อให้ทำหน้าที่ตั้งแต่สองอย่างขึ้นไปร่วมกันหรือสลับกัน
ตามหมายเหตุ 4 กำหนด
ในกรณีเครื่องจักร (รวมถึงกลุ่มเครื่องจักร)ที่มีองค์ประกอบแยกเป็นแต่ละส่วน (ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะแยกกันหรือเชื่อมต่อกันด้วยท่อ อุปกรณ์ส่งกำลัง เคเบิล ไฟฟ้าหรือด้วยอุปกรณ์อื่นๆ โดยเจตนาที่จะให้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนึ่งที่ระบุได้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งคลุมถึงโดยประเภทใดประเภทหนึ่ง ในตอนที่ 84 หรือตอนที่ 85ให้จำแนกของทั้งหมดเข้าประเภทที่เหมายสมตามหน้าที่นั้น
ข้อ 3. ข้อกำหนดเฉพาะประเภทที่ 84.71 ( ครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ ตามหมายเหตุ ของตอนที่ 84 ของหมวด 16
หมายเหตุ 5 ง กำหนด
ง. “ประเภทที่ 84.71 ไม่คลุมถึงของดังต่อไปนี้เมื่อแยกนำเข้า ถึงแม้ว่าของเหล้านั้น จะครบเงื่อนไขทั้งหมดที่ระบุไว้ตามหมายเหตุ 5 ค ข้างต้น
(1) เครื่องพิมพ์ เครื่องจักรทำสำเนา และเครื่องโทรสาร จะประกอบรวมกันหรือไม่ก็ตาม
(2) เครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่นๆรวมถึงอุกรณ์สำหรับการสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสายหรือไร้สาย ( เช่น เครือข่ายเฉพาะกลุ่ม หรือเครือข่ายบริเวณกว้าง )
(3) ลำโพงและไมโครโฟน
(4) กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล และกล้องถ่ายบันทึกวีดีโอ
(5) มอนิเตอร์ และเครื่องฉาย (โปรเจกเตอร์) ไม่มีเครื่องอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ประกอบร่วมอยู่ด้วย”
หมายเหตุ 5 ค กำหนด
ค. “ภายใต้บังคับของข้อ ง และ จ ข้างล่างนี้แต่ละหน่วยให้ถือเป็นส่วนประกอบของระบบประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขทั้งหมดดังต่อไปนี้
(1) เป็นชนิดที่ใช้เฉพาะหรือส่วนใหญ่ใช้กับระบบประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ
(2) สามารถต่อเข้ากับหน่วยประมวลผลกลางได้โดยตรงหรือผ่านหน่วยอื่นตั้งแต่หนึ่งหน่วยขึ้นไป
(3) สามารถรับหรือส่งข้อมูลในรูป (รหัสหรือสัญญาณ)ที่ใช้ได้โดยระบบ “หน่วยของเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติที่แยกนำเข้าให้จำแนกเข้าประเภทที่ 84.71
อย่างไรก็ตาม แป้นพิมพ์ อุปกรณ์ป้อนพิกัดเอ็กซ์ – วาย และหน่วยเก็บข้อมูลแบบจาน ที่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อ ค (2) และ ค(3) ข้างต้น ในทุกกรณีให้จำแนกเข้าประเภทที่ 84.71”
หมายเหตุ 5 จ กำหนด
“เครื่องจักรที่ประกอบร่วมกันหรือทำงานเชื่อมกันกับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และทำงานเฉพาะอย่างนอกเหนือจากการประมวลผลข้อมูลให้จำแนกเข้าประเภทที่เหมาะสมตามหน้าที่การทำงานของเครื่องจักรนั้น หรือจำแนกเข้าประเภทอื่นที่เหลือ”
ข้อมูล คัดลอกจากสรุปผลการพิจารณาของ ด้านมาตรฐานพิกัดอัตราศุลกากร ระหว่าง พ.ศ. 2550-2551