อุปสรรคและปัญหาในการส่งออก ผัก และผลไม้ไทยไปจีน
กรมการค้าต่างประเทศ ได้ขอให้สำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงปักกิ่ง ช่วยเจรจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้ติดต่อสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์จีน และสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เนตจีนแล้วขอเรียนดังนี้
1. สิทธิ์ในการเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ จะต้องผ่านการอนุมัติการกระทรวงพาณิชย์จีนก่อน โดยอาจเป็นชาวต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจ/ลงทุน ในจีนก็ได้ตามคุณสมบัติที่จีนกำหนด ทั้งนี้ ผู้นำเข้า-ส่งออกผลไม้ในขณะนี้ เป็นบริษัทใหญ่ ค่อนข้างมีอิทธิพล หรือ มีความสัมพันธ์ใกล้ชินกับรัฐบาลจีน โดยร้อยละ 90 ของการนำเข้าอยู่ที่เมืองกวางโจวตอนใต้ของจีน ผู้นำเข้า-ส่งออกระดับ SME จะมีน้อย ดังนั้น การทำธุรกิจระหว่างประเทศ จึงมักต้องผ่านผู้นำเข้า-ส่งออกรายใหญ่ที่มีอยู่เดิมๆ ทำให้ต้องเสียค่าบริการ/ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเพิ่มต้นทุนแก่ผู้ค้ารายย่อย
2. สำหรับใบอนุญาตนำเข้าสินค้าต่างๆ จะมีอายุ 6 เดือน โดยเสียค่าธรรมเนียมชุดละ 20 หยวน (ยี่สิบหยวน) ใบอนุญาต 1 ชุดต่อการนำเข้า 1 ล๊อตสินค้านั้นๆ นอกจากนี้ ยังต้องขอใบรับรองด้านสุขอนามัยต่อการนำเข้า 1 ครั้ง โดยเสียค่าธรรมเนียมชุดละ 20 หยวน (ยี่สิบหยวน) เช่นกัน ทั้งนี้ ไม่เคยมีการระบุว่า จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาต 300 หยวน
3. การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบันจีนเรียกเก็บใน 3 อัตรา คือ ร้อยละ 0 สำหรับสินค้าส่งออก ร้อยละ 13 สำหรับสินค้าเกษตร เครื่องจักรการเกษตร ก๊าซถ่านหิน หนังสือ ปุ๋ยเคมี ฯลฯ และร้อยละ 17 สำหรับสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำมันดิบ ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้ทั้งในประเทศ และสินค้านำเข้า ส่วนที่มีการเรียกเก็บแตกต่างกันนั้น ทางการจีน ได้มีข้อกำหนดว่า ธุรกิจในประเทศที่มีขนาดเล็กจำนวนเงินทุนต่ำกว่า 1 ล้านหยวน ให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6 ส่วนร้านค้าเล็กๆ ทั่วไป ให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ 4
4. เกี่ยวกับการรับรองสวนผลไม้ในไทย ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ของไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน อยู่ระหว่างการเตรียมลงนาม MOU เพื่อการยอมรับซึ่งกันและกัน ด้านสุขอนามัยสินค้าผลไม้ (ครอบคลุมผลไม้ไทยทุกชนิด) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ของไทยกำหนดจะเดินทางมาลงนามกับฝ่ายจีนภายในเดือนธันวาคม 2546 – มกราคม 2547 โดยเมื่อลงนามแล้ว จะดำเนินขั้นตอนการตรวจสอบด้านการผลิตตามหลักสุขอนามัย และขึ้นทะเบียนผู้ผลิต/ผู้ส่งออกผลไม้ของไทยที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไป
อนึ่ง ปัจจุบันแม้จีนยังมิได้ยกเลิกข้อตกลงเรื่องการรับรองสวนผลไม้ไทย แต่ก็มิได้นำมาอ้างเป็นอุปสรรคการนำเข้าจากไทย
5. ปัญหาอุปสรรคในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนตามที่ร้องเรียนดังกล่าว สำนักงานฯ ได้พยายามสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่จะชี้แจง ตามกฎข้อระเบียบที่มีอยู่เท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับในการปฏิบัติ สำนักงานฯ เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากผู้นำเข้ารายย่อยหรือรายใหญ่ๆ ต้องดำเนินการผ่านเอเย่นต์นำเข้ารายใหญ่ที่มีอิทธิพล หรือ มีเครือข่ายกว้างขวาง และมีการเรียกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูง เพราะการนำเข้าผัก-ผลไม้ไทยส่วนใหญ่จะเข้าทางตอนใต้ของจีน ที่เมืองกวางโจว และ ฮ่องกง ก่อนส่งจำหน่ายยังมณฑลอื่นๆ ของจีน มีส่วนน้อยที่นำเข้าโดยตรงสู่ภาคกลางหรือภาคเหนือของจีน
6. แนวทางการแก้ไขปัญหา
6.1 กระตุ้นให้มีการนำเข้าผลไม้ไทย โดยตรง โดยไม่ผ่านเอเย่นต์ใหญ่ที่มีอยู่ โดยเฉพาะมณฑลทางภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เช่น การจัดประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในลักษณะ In-Store Promotion และผ่านสื่อต่างๆ ของจีน
6.2 การเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานฯ เห็นว่า การเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ คงจะไม่ได้ผล เพราะมักจะอ้างตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ จึงควรนำขึ้นเจรจาในระดับสูงในกรอบทวิภาคี คือ คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนระหว่างไทย-จีน ซึ่งได้ยกระดับหัวหน้าคณะฯ เป็นระดับรองนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา และคาดว่า สองฝ่ายจะมีการจัดประชุมฯ ในช่วงต้นปี 2547 (ประมาณ ก.พ. – เม.ย.) เพื่อหารือความร่วมมือระหว่างกัน จึงเป็นโอกาสที่จะได้หารือประเด็นปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ควรยกขึ้นหารือในเวทีเจรจาอื่น เมื่อมีโอกาสด้วย ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะได้นำเรื่องดังกล่าวหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงพาณิชย์จีนอีกครั้งหนึ่ง