GMS เส้นทางเศรษฐกิจอินโดจีน |
จับตาเส้นทางการค้าภูมิภาคอินโดจีน ถนนเชื่อมต่อเกือบสมบูรณ์แล้ว แต่การค้าการลงทุนยังไม่เกิด เหตุติดปัญหา เรื่องกฎระเบียบระหว่างประเทศ รัฐและเอกชนไทยเร่งผนึกกำลังดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ระบุเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคาม ไทยต้องเตรียมพร้อมทั้งรุก-รับ ก่อนบังคับใช้ความตกลงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามแดน ภายในสิ้นปี 2553
เมื่อวิวัฒนาการของระบบการค้าโลกมุ่งเน้นสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจหรือการลงทุนแบบตลาดเดียว (Single Market) มากขึ้น เห็นได้จากความพยายามในการทำข้อตกลง FTA (Free Trade Agreement) ของประเทศต่างๆ รวมถึงประเด็นร้อนใกล้ตัวของประเทศไทยในโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหรือ GMS (Greater Mekong Sub region: GMS) ของประเทศไทยร่วมกับอีก 5 ประเทศ คือ ราชอาณาจักรกัมพูชา สหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เห็นภาพชัดเจนในการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างกันแล้ว โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ความตกลงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามแดน (GMS Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA) อย่างเต็มรูปแบบภายในสิ้นปี 2553 นี้ด้วย ขณะนี้จึงเป็นประเด็นท้าทายว่าประเทศสมาชิก GMS จะร่วมผลักดันอย่างไรเพื่อให้เกิดเป็นเส้นทางการค้าที่แท้จริง และได้ประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win situation
ดังนั้นในฐานะที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ (Geographical Advantage) ในเรื่องสถานที่ตั้ง ทำให้สามารถวางตำแหน่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าของภูมิภาคอินโดจีน และประตูการค้าสู่อาเซียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเดินหน้าให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การบริการโลจิสติกส์แบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมในกลุ่ม GMS ก่อนจะขยายผลความร่วมมือไปสู่ระดับอาเซียน ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนที่จะมีการรวมกลุ่มเป็นหนึ่งเดียว (Single Market) เพื่อสร้างประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ภายในปี 2558
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเส้นทางขนส่งตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ประกอบด้วย
- แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงไทย-พม่า/ลาว-จีน
- แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เชื่อมโยงพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม
- แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่อมโยง ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม
จุ ดเด่นของเส้นทางดังกล่าวคือเป็นเส้นทางการค้าใหม่ที่เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกด้วยการขนส่งทางบกที่มีระยะทางเชื่อมต่อสั้นที่สุด ขณะนี้การขนส่งทางบกในภูมิภาคเป็นที่จับตามองว่าจะมีบทบาทสูงมากอนาคต
อย่างไรก็ดีการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานทางถนนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะผลักดันให้เกิดการค้า การลงทุน แต่ต้องมีปัจจัยสนับสนุนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามแดน ได้แก่ ความตกลงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงว่าด้วยการขนส่งสินค้าข้ามแดน (GMS Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA) และกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ซึ่งครอบคลุมกฎเกณฑ์ด้านยานพาหนะ คนประจำพาหนะ เส้นทางการขนส่ง กฎระเบียบการจราจร ขนาดและน้ำหนักของยานพาหนะ และภาษีอากร เป็นต้น รวมถึงระบบไอที การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งพบว่ายังเป็นอุปสรรคสำคัญอยู่
นอกจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรุก-รับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น เพราะเส้นทางที่เชื่อมโยงกันย่อมเป็นทั้งโอกาสทางการค้า และภัยคุกคามได้ในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะกับจีนตอนใต้ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามโรงงานโลก แหล่งผลิตสินค้าราคาถูก และตลาดบริโภคขนาดใหญ่
แม้การค้า การลงทุนในเส้นทางสายเศรษฐกิจที่พูดถึงมานานกว่า 15 ปี ยังไม่ปรากฎผลเด่นชัดนัก แต่อย่างน้อยการเดินหน้าเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานที่จะทำให้มีการลดปัญหา อุปสรรค ที่เกิดขึ้นของภาครัฐและเอกชนไทยถือเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่ดี สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จำเป็นต้องเร่งศึกษารายละเอียดและพัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วเพื่อหาช่องทางธุรกิจและใช้ประโยชน์จากความร่วมมือ GMS เพราะหากช้าไปเส้นทางที่ประเทศไทยคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสทางการค้า อาจจะกลับกลายเป็นการเปิดประตูให้สินค้าราคาถูกจากจีนเพียงฝ่ายเดียวก็เป็นได้
ศักยภาพของประเทศไทยภายใต้กรอบความร่วมมือ GMS
จุดแข็ง
- ที่ตั้งของไทยเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอินโดจีน และจีนตอนใต้
- จีนตอนใต้ต้องการแสวงหาเส้นทางขนส่งทางทะเลสู่กลุ่มประเทศยุโรป และตะวันออกกลาง
- ในกลุ่ม GMS ไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ การเมือง ทรัพยากร
มนุษย์ และไอที
- ไทยอยู่ในเส้นทางการขนส่ง East-West Economic Corridor และ North-South Economic Corridor ระหว่างกลุ่มประเทศ
จุดอ่อน
- การขนส่งจากจีนตอนใต้มายังไทยต้องผ่านลาว หรือพม่า
- ไทยขาดหน่วยงานหลักในการนำและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
โอกาส
- ความร่วมมือ GMS เป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันให้อินโดจีนพัฒนาเศรษฐกิจแบบรวมกลุ่ม โดยมีจีน และไทยเป็นผู้นำในการผลักดัน
- มีพม่า และลาวเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร Contract Farming
ข้อจำกัด
- ความแตกต่างของรากฐานการปกครอง และพื้นที่ทางเศรษฐกิจ
- ความหวาดระแวงระหว่างกัน