การนับระยะเวลาแห่งอายุความ
อายุความอาญามิได้กำหนดไว้ว่าการ นับอายุความให้นับอย่างไรจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๕ ว่าด้วยระยะเวลามาใช้ บังคับ เช่นตามมาตรา ๑๙๓/๕ การกำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เดือนหรือปี ให้คำนวณตามปีปฏิทิน หรือตามมาตรา ๑๙๓/๘ ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณีให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา
ฎีกาที่ ๒๒๑/๒๕๑๕ ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุดซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงาน ท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑ เดิม ดังนั้น เมื่อระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ได้สิ้นสุดลงในวันหยุดราชการผู้เสียหายจึงยื่นฟ้องในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันทำงานใหม่ได้ โดยไม่ขาดอายุความ
ส่วนการขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๗ นั้นเข้าใจว่านำมาใช้ในอายุความอาญาไม่ได้ เพราะอายุความตามปกติจะย่นหรือขยายออกไม่ได้ถ้ากฎหมายต้องการให้ขยายอายุความออกไปในกรณีใด ก็จะกำหนดการเริ่มนับอายุความใหม่ไว้โดยชัดเจนต่างหาก
ที่มา : หนังสือเรื่อง อายุความ สมพร พรหมหิตาธร ผู้เขียน